ขมิ้น ( Turmeric ) เป็นพืชล้มลุกที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Curcuma Longa L. อยู่ในวงศ์ ZINGIBERACEAE และพบว่ามีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ในปัจจุบันบ้านเรานิยมปลูกขมิ้นกันอย่างแพร่หลายในเกือบทุกภูมิภาคก็ว่าได้ เพราะขมิ้นเป็นพืชที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งการนำมาประกอบอาหารและสามารถนำไปทำเป็นยาสมุนไพรรักษาโรคได้ด้วย จึงกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่ตลาดต้องการอย่างต่อเนื่อง สามารถสร้างรายได้ให้แก่ชาวเกษตรกรได้เป็นอย่างดี
ลักษณะของขมิ้น
ขมิ้น จัดเป็นพืชล้มลุกที่มีอายุอยู่ได้หลายปี เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่สามารถสูงได้ประมาณ 30-90 เซนติเมตร โดยส่วนที่นิยมนำใช้ประโยชน์ คือ เหง้าขิง ( ทั้งแบบสดและแบบแห้ง )
เหง้า – ขมิ้นจะมีเหง้าฝังอยู่ใต้ดินซึ่งเหง้าขมิ้นนั้นจะมีลักษณะเป็นทรงกระบอก มีเปลือกหุ้มด้านนอกสีน้ำตาลอ่อน เนื้อด้านในมีสีเหลือง-ส้ม มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว เหง้าขมิ้นจะแตกแขนงอยู่ใต้ดินไปทุกทิศทาง
ใบ – ใบมีสีเขียวรูปทรงเรียวยาวปลายแหลมคล้ายหอก โดยใบจะแทงยอดขึ้นมาจากเหง้าซึ่งอยู่ใต้ดิน
ดอก – มีลักษณะเป็นช่อทรงกระบอก กลีบดอกมีสีเขียวอ่อน-เหลืองอ่อน อยู่ระหว่างก้านใบ
ประโยชน์และสรรพคุณทางยาของขมิ้น
พบว่าขมิ้นมีสาร Tumerone , Zingerene Bissboline , Zingiberene , Alpha-Phellandrene , Curcumone , Curcumin ฯลฯ และยังอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่มีประโยชน์มากมาย เช่น วิตามินเอ , วิตามินบี1-บี3 , วิตามินอี , ธาตุเหล็ก , แคลเซียม , ฟอสฟอรัส ฯลฯ รวมถึงเป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางยา ดังนี้
– ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานโรคให้แก่ร่างกาย
– ช่วยรักษาอาการผิดปกติของระบบทางเดินหายใจ ปัจจุบันได้มีการนำมาใช้ในการบรรเทาอาการจากโรคโควิด-19 ด้วย
– แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ อาการจุกเสียดแน่น ขับลมในกระเพาะ
– แก้อาการท้องร่วง โรคกระเพาะ
– ช่วยขับสารพิษออกจากร่างกาย
– แก้อาการผดผื่นคันตามผิวหนัง
– ช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งลำไส้และมะเร็งปากมดลูกได้
– ใช้บรรเทาอาการโรคเบาหวาน ลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด และรักษาโรคความดันสูง
– ช่วยขับน้ำนมหลังคลอด ( เพิ่มน้ำนมให้คุณแม่หลังคลอด ) ฯลฯ
วิธีการดูแลขมิ้น
ดิน – ขมิ้นเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุยที่อุดมด้วยอินทรีย์วัตถุ และสามารถระบายน้ำได้ดี
น้ำ – เป็นพืชสมุนไพรที่ชื่นชอบความชุ่มชื้นจึงจะต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอโดยในช่วงแรกของการปลูกควรรดน้ำ เช้า-เย็น เมื่อเริ่มมีหัวแก่ให้ลดการให้น้ำเป็นวันละครั้ง และให้งดการให้น้ำในช่วงใกล้การเก็บเกี่ยว
แสงแดด – สามารถปลูกไว้ในพื้นที่กลางแจ้งได้ แต่ในช่วงที่อากาศแห้งแล้งลงและมีน้ำน้อย ควรนำหญ้าแห้งมาปกคลุมไว้บริเวณโคนต้นเพื่อลดการคายน้ำของดิน เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนจึงค่อยนำหญ้าคลุมหน้าดินออก
ปุ๋ย –ควรใช้ปุ๋ยหมักบำรุงเมื่อครบ 1 เดือนแรก เมื่อครบ 3 เดือน ให้ใส่ปุ๋ยอีก 1 ครั้ง และเมื่อครบ 2 ปี ให้ใส่ปุ๋ยบำรุงอีกในปริมาณ 300-500 กรัมต่อ 1 หลุม
การขยายพันธุ์ – ขมิ้นสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการปักชำเหง้า
นอกจากประโยชน์และสรรพคุณที่มากมายของขมิ้น การใช้ยังส่งผลข้างเคียงอีกด้วย เช่น อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดศีรษะ ปวดท้อง มีอสกสนนอนไม่หลับ ฯลฯ หากทานแล้วมีอาการดังกล่าวควรหยุดทานทันที
การทานสมุนไพรควบคู่ไปกับการทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ครบ 5 หมู่ มีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและเหมาะสมกับตนเอง นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ลดการเครียดหรือวิตกกังวลลง จะช่วยให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงได้อย่างยั่งยืนโดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของคุณค่ะ